ไฮกลอส: ที่มา-ที่เป็น-ที่ไป

Last updated: 21 Dec 2017  |  6716 Views  | 

ไฮกลอส: ที่มา-ที่เป็น-ที่ไป

ไฮกลอส (High Gloss) จะมีความหมายถึงวัตถุที่เมื่อวัดด้วยเครื่อง Gloss meter ที่มุมตกกระทบ 60 องศาแล้ว จะมีค่ามากกว่า 70 หน่วย ขึ้นไป ทุกวันนี้เราจะพบเจอไฮกลอสหลากหลายขนาดและวัสดุตั้งแต่เครื่องประดับไปจนถึงรถยนต์

ถึงแม้ว่าไฮกลอสจะถูกจำกัดความหรือบัญญัติความหมายเมื่อปี ค.ศ.1937 แต่หากพูดถึงสิ่งของที่มีความเงาแล้วนั้นเราสามารถย้อนไปได้ไกลกว่านั้นมาก



ที่มาของความเงา



เรื่องของความเงาในเนื้อไม้ มีประวัติตั้งแต่อินเดียโบราณ มีการใช้ครั่งดิบ(Shellac)หรือของเหลวคล้ายยางชนิดหนึ่งที่หลั่งออกมาจากแมลงซึ่งในภาษาท้องถิ่นเรียกว่า ครั่ง หรือLac ( Kerria lacca.) ในการย้อมไม้ ถ้าจำบทเรียนสมัยเด็กได้ ครั่งที่ว่านี่เป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทยเลยนะครับ น้ำยาย้อมไม้ที่ใช้ก็เลยได้ศัพท์”เชลแลค”มาด้วย

             
ครั่งดิบ                                                                                                                                                                                   แผ่นเชลแลค

กลับมาที่คำว่า Lac ที่ใช้เรียกครั่งนิดนึง Lac ที่เรียกนี้มีหลายความหมาย ในอินเดีย หนึ่งแลคเท่ากับหนึ่งแสน (เพราะครั่งมีจำนวนตัวเยอะแยะมากเลยเอาเรียกแทนจำนวนเยอะๆซะเลย) นอกจากนี้รากศัพท์ของคำๆนี้ย้อนเป็นภาษาสันสกฤตว่า “ลากษา (Laksha)” เป็นรากศัพท์เดียวกับคำว่าแล็คเกอร์ (Lacquer) ที่แปลว่าเคลือบด้วย

จากข้อมูลในบทความของ Metropolitant Museum of Art ชิ้นนี้ ชาวจีนเริ่มใช้วัสดุให้ความเงางามในเครื่องเคลือบดินเผามานานกว่า5000ปี และในแง่ของงานไม้ พบว่าจะใช้ยางจากต้นรักนำมาสกัดเป็นของเหลวสำหรับทาเพื่อให้ความเงา วิธีการทำนั้นเริ่มมามีวิธีการทำที่ซับซ้อนในช่วงราชวงซาง(1600ปีก่อนคริสตกาล)และหลังจากนั้นก็แพร่ไปสู่เกาหลี ญี่ปุ่น และประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย 

หลังจากที่มีการผลิตอครีลิคในปี 1934, โพลียูรีเทนในปี 1937, และ โพลีเอสเตอร์ในปี 1941 สีชนิดใหม่ทั้งสามก็มีการพัฒนาจนมีบทบาทสำคัญกับงานไฮกลอสในทุกวันนี้ เรามักจะพบว่ามีงานไฮกลอสจำนวนมากในงานเฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นเพราะสีทั้งสามถือเป็นเทคโนโลยีใหม่ในยุคที่การออกแบบยังนิยมแนว Modernism อยู่ ความแตกต่างของสีทั้งสามประเภทในปัจจุบัน คุณสามารถอ่านจากบทความของเรา เรื่อง ประเภทของสีพ่นไฮกลอสที่ผู้ใช้ไฮกลอสทุกคนต้องรู้



ไฮกลอสที่มีในปัจจุบัน



ไฮกลอสในปัจจุบันนั้นหลากหลายวิธีการผลิตและวิธีใช้ ส่วนมากจะขึ้นกับขนาดพื้นที่และวิธีการใช้ผลิตภัณฑ์โดยแบ่งได้ดังนี้


1. การทา นิยมใช้สีที่มีทั้งอครีลิค, โพลียูริเทน, โพลีเอสเตอร์ และสีน้ำ ในที่นี้มีตั้งแต่การทำพื้น, ผนัง กำแพง ฯลฯ เนื่องจากง่ายและไม่ต้องใช้ฝีมือมาก จึงเป็นวิธีที่ถูกที่สุดและ นิยมใช้กับงานที่มีพื้นที่ใหญ่มากๆ หรืองานที่ไม่ต้องการความละเอียดมากนัก

2. การพ่น ใช้สีประเภทอครีลิค, โพลียูริเทน และ โพลีเอสเตอร์  เช่นเดียวกับการทา แต่มีส่วนผสมทางเคมีที่ต่างกันไป ขึ้นอยู่กับพื้นผิวที่จะเคลือบ  ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก, ไม้, แก้ว ฯลฯ งานพ่นใช้ทักษะที่สูงและได้งานที่ทนทานจึงมีราคาเฉลี่ยสูง จึงนิยมในงานขนาดไม่ใหญ่นักหรืองานที่ต้องการความสวยงามและความแข็งแรง



3. การปิดผิว จะเป็นการปิดผิวหน้าของชิ้นงานด้วยวัสดุที่มีความเงาโดยใช้กาวก่อนนำไปอัดด้วยแรงเดนและอุณหภูมิ งานชนิดนี้ให้ความสวยงามดี ราคาต่ำกว่าการพ่น แต่อายุการใช้งานจะน้อยกว่า จึงเหมาะกับงานตกแต่งภายในหรือเฟอร์นิเจอร์




ก้าวต่อไปของไฮกลอส



มีสองสามประเด็นที่เราคิดว่าน่าจะมีอิทธิพลต่องานไฮกลอสในอนาคตข้างหน้า นอกเหนือจากเรื่องของดีไซน์แล้วก็จะเกี่ยวกับ 2 เรื่องคือ Trend การรักษาสิ่งแวดล้อม และ เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งตัวอย่างต่อไปนี้อาจจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทั้งสองเรื่องไปพร้อมๆกัน

- การเข้ามาของวัสดุทดแทน เนื่องจากวัสดุทางธรรมชาติที่น้อยลงทุกๆวัน ตลาดของวัสดุทดแทนไม้จึงเป็นหัวข้อที่น่าจับตามอง

- 3D Printing เป็นเทคโนโลยีที่น่าจะมีความสำคัญกับงานดีไซน์ในอนาคตอันใกล้

- Water Based Coating เทคโนโลยีในปัจจุบันของสีที่มาจากน้ำยังไม่พัฒนานัก แต่ด้วยแนวโน้มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็ไม่แน่ว่าอาจจะมีการพัฒนาสีไฮกลอสที่มีส่วนผสมจากน้ำก็เป็นได้

 


สรุป



ไฮกลอสนั้นมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยโบราณ เริ่มจากการใช้สิ่งที่มีในธรรมชาติมาช่วยเพิ่มวามเงางามให้งานต่างๆ จนกระทั่งพัฒนามาเป็นการใช้สารเคมีและวัสดุสังเคราะห์ต่างๆ และในอนาคตก็คาดว่าจะมีการใช้งานที่เพิ่มขึ้น

พวกเราเชื่อว่าตราบใดที่เรายังมีการออกแบบ ตราบนั้นก็จะมีเรื่องของความเงาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะความเงาให้ความรู้สึกที่แตกต่างออกไป และช่วยขับเน้นจุดเด่นของเฉดสีได้ และงานไฮกลอสจะพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับอารยธรรมของมนุษยชาติ

คุณล่ะครับ? คิดว่ามีเทคโนโลยีอะไร หรือเทรนด์ใหม่ที่อาจจะมีผลต่องานตกแต่งหรืองานดีไซน์ในอนาคต มาลองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันครับ

Powered by MakeWebEasy.com
This website uses cookies for best user experience, to find out more you can go to our นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้